วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

นโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ




กองทุนหมู่บ้าน คือ แหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ และบรรเทาเหตุจำเป็นเร่งด่วนของชุมชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนทั่วประเทศ ส่งผลต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ดังนี้

1. ด้านสังคม  เป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนเมืองสร้างแหล่งเงินของตนเอง จากการคิดเอง ตัดสินใจเอง และทำเอง เพื่อพึ่งพาตนเองในอนาคต

2. ด้านเศรษฐกิจ มีการกระจายเงินทุนในท้องถิ่น ทำให้เกิดการสร้างงานในธุรกิจของชุมชนซึ่งเป็นรากฐานที่เข้มแข็งและยั่งยืน

3. ด้านการเมือง  ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเพื่อนำมาใช้ในชุมชนของตนเอง

4. ด้านวัฒนธรรม  ทำให้เกิดความสามัคคี ความเอื้ออาทร และการกระจายความเสมอภาคในชุมชน

กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองถือว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชนในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น และสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่ง ส่งผลให้การกินดีอยู่ดีของประชาชนทั้งประเทศดีขึ้น

นโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เริ่มต้นโดยการจัดแบ่งเป็นกองทุนละ ล้านบาท  เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน และเสริมสร้างการพึ่งพาตนเองด้วยภูมปัญญาของตนเอง จากนั้นรัฐบาลจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปฝึกอบรมความรู้ในด้านต่าง ๆ ให้กับประชาชนในหมู่บ้าน โดยเรียกตัวเองว่า  ประชารัฐ  เพื่อให้ประชาชนเข้าใจการบริหารการจัดการกับกองทุนที่ได้รับมานี้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น

ซึ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชนนี้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนต่อไป  ทั้งนี้ผลสำเร็จของการกระทำต้องเกิดจากความช่วยเหลือเอื้ออาทรซึ่งกันและกันแก่กองทุนสมาชิก  โดยอาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตามวิถีชุมชน และวัฒนธรรมระหว่างกัน  เพื่อให้เกิดการยกระดับของกองทุนให้มีความเท่าเทียมกัน จากการอยู่รอด สู่การกินดีและอยู่เด่น

โดยสรุปนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 
1. เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านและชุมชนเมืองสำหรับการลงทุนเพื่อการพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้หรือเพิ่มรายได้ การลดรายจ่ายการบรรเทาเหตุฉุกเฉินและความจำเป็นเร่งด่วน และสำหรับการนำไปสู่การสร้างกองทุนสวัสดิภาพที่ดีแก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชน

2. ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถในการจัดระบบ และบริหารจัดการเงินทุนของตนเอง

3. เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมืองในการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างศักยภาพ และส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านและชุมชนเมือง

4. กระตุ้นเศรษฐกิจ ในระดับฐานรากของประเทศรวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต

5. เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น